วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แผนกเลขานุการ (วิทยาลัยเทคนิคพะเยา)



แผนกเลขานุการ
ประวัติความเป็นมาแผนกเลขานุการวิทยาลัยเทคนิคพะเยาได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2522 และได้เริ่มก่อตั้งแผนกช่างต่างๆขึ้นมาโดยมี ช่างกล ช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างก่อสร้างและโดยเริ่มสร้างคณะบริหารธุรกิจขึ้น โดยมีแผนกบัญชี แผนกการตลาด และแผนกเลขานุการ
แผนกเลขานุการได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2525 ปัจจุบันมีอาจารย์ที่สอนอยู่ในแผนกเลขานุการ จำนวน 4 คน และส่วนของนักเรียน นักศึกษาที่เรียนอยู่ในแผนกเลขานุการ เป็นจำนวน 133 คน ตั้งแต่ ปวช 2 - ปวส.2

มารู้จัก ความหมายของคำว่า "เลขานุการ" กันเถอะ
เลขานุการ หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือตามผู้ใหญ่สั่ง เลขานุการที่มีความสามารถจะช่วยผู้บริหารรักษาเวลาและดำเนินการต่างๆ ให้สำเร็จเรียบร้อยโดยรวดเร็วเลขานุการจะต้องเป็นผู้ที่รักษาความลับได้ดี มีไหวพริบ มีความริเริ่ม มีมนุษยสัมพันธ์พร้อมทั้งเป็นผู้รอบรู้เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วและต้องพยายามปรับปรุงตัวเองให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ เลขานุการที่มีประสิทธิภาพ มีค่าและสำคัญสำหรับสำนักงานมากแต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า แผนกเลขานุการที่มีความสามารถเท่านั้นจะเป็นผู้ช่วยบริหารงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี


การเรียนเลขานุการไม่ใช่เรื่องยาก
ในการที่จะเข้าเรียนในแผนกเลขานุการนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสุภาพสตรี เพราะคิดว่าลักษณะคล่องแคล่ว พูดจาฉะฉาน และปราดเปรียวแต่ความจริงแล้วไม่ว่าสุภาพสตรีหรือสุภาพบุรุษก็สามารถที่จะเลือกเรียนเลขานุการ ได้ทั้งนั้น เพราะในการเรียนนั้น จะทำให้เราสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีบุคลิกภาพที่ดีและมีความเชื่อมั่นในตัวเองให้มีบุคลิกภาพที่ดี และมีความเชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างสูง มีความชำนาญในการพิมพ์ดีดในตัวเองค่อนข้างสูง มีความชำนาญในการพิมพ์ดีดก็จะทำให้เราเป็นคนที่สามารถพิมพ์งานได้คล่องแคล่วขึ้นเนื่องจากแผนกเลขานุการจะเน้นให้นักศึกษาเรียนวิชาพืมพ์ดีดและงานที่เกี่ยวกับการบริหารงานเอกสารและการใช้เครื่องใช้สำนักงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี



การเป็นเลขานุการที่ดี

จรรยาบรรณของเลขานุการ

1. ปฏิบัติตนตามกฎระเบียบขององค์การด้วยความภักดีและจริงใจและไม่ทำลายภาพพจน์หรือชื่อเสียงขององค์กร
2. ธำรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์อันสูงสุดต่องานของตนเองและต่องานในหน้าที่อย่างสมำเสมอ
3. มีความรับผิดชอบต่องานของตนเองและของผู้ใต้บังคับบัญชา
4. ติดตามและเรียนรู้ความก้างหน้าทางวิทยากรประสบการณ์และการฝึกฝนด้านงานเลขานุการการจัดการ
5. ส่งเสริมให้มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิผลภายในองค์การและภายนอกองค์การเท่าที่เห็นสมควร
6. รักษาความลับของงานในหน้าที่อย่างเข็มงวดและจำไม่ใช้ความลับนั้น เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือในลักษณะที่จะก่อความเสียหายต่อองค์กรที่ตนเองทำงานอยู่
7. คำนึงถึงความต้องการและปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชา
8. ไม่ใช้ข่าวหรือแถลงเรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับงานของตน
9. ไม่ดูแคลนหรือสร้างความเสียหายต่อสถานภาพทางอาชีพเลขานุการ
10. มีทัศนคติที่ดีต่อสถานภาพของอาชีพอื่น



















คุณสมบัติของเลขานุการที่ดี

คุณสมบัติของเลขานุการที่ดีเลขานุการที่ดี ควรปฏิบัติตน
1. มีความรู้ความสามารถในงานเลขานุการ
2. รักษาความลับได้เป็นอย่างดี
3. ปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมได้
4. มีความอดทน
5. มีมนุษยสัมพันธ์
6. มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความจงรักภักดี

7. มีความจำเยี่ยม
8. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
9. มีความรับผิดชอบ
10. มีความรอบรู้
11. สะอาดเรียบร้อย
12. มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ
13. มีไหวพริบและมีการวางตัวที่เหมาะสม
14. สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้
15. มีมารยาทที่ดี
16. มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี


จบเลขานุการทำงานอะไร

จบเลขานุการแล้วสามารถทำงานอะไรได้บ้าง

1. งานเลขานุการ
2. พนักงานต้อนรับ
3. พนักงานประชาสัมพันธ์
4. งานธุรการในส่วนธุรการต่าง ๆ
5. พนักงานชวเลข
6. พนักงานจัดเก็บเอกสาร
7. งานด้านการพิมพ์
8. งานสารบรรณ
9. ธุรกิจส่วนตัว
- ร้านถ่ายเอกสาร
- รับพิมพ์งาน
- รับจัดประชุมสัมนา
ฯลฯ

ตัวอย่างรายงานการประชุม

รายงานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเกษตรธานี
ครั้งที่ 3/2551
วันที่ 9 กันยายน 2551
ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเกษตรธานี
--------------------------------

ผู้มาประชุม
1.นายวาระ แห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเกษตรธานี ประธานกรรมการ
2. นางเภสัช สุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเกษตรธานี กรรมการ
3. นายพัฒนา ชุมชน พัฒนาการจังหวัดเกษตรธานี กรรมการ
4. นายสังคม มั่นคง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเกษตรธานี กรรมการ
5. นางพาณิชย์ เศรษฐกิจ พาณิชย์จังหวัดเกษตรธานี กรรมการ
6. นายมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมจังหวัดเกษตรธานี กรรมการ
7. นายภาษี สรรพากร สรรพากรจังหวัดเกษตรธานี กรรมการ
8. นายสหกรณ์ การเกษตร ผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตร กรรมการ
9. นางออมสิน ธนากิจ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาจังหวัดเกษตรธานี กรรมการ
10. นายพึ่งพา ตนเอง กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน กรรมการ
11. นางกระจาย โอกาส กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน
12. นายแผน พัฒนา กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน
13. นายวิถี ท้องถิ่น กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน
14. นายเศรษฐี พอเพียง กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน
16. นายเครือ วิสาหกิจ กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน
17 นายบริหาร ธุรกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านบริหารธุรกิจ
18. นายเงิน ร่ำรวย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงิน
19. นายการค้า อุตสาหกรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการค้าและอุตสาหกรรม
20 นายเกษตร ส่งเสริม เกษตรจังหวัดเกษตรธานี กรรมการและเลขานุการ



ผู้เข้าร่วมประชุม
1. นายเสริม วิชาการ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ระดับชำนาญการ
สำนักงานเกษตรจังหวัดเกษตรธานี
2. นายช่วย เชี่ยวชาญ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ระดับปฏิบัติการ
สำนักงานเกษตรจังหวัดเกษตรธานี



เริ่มประชุมเวลา 10.00 น.



ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
นายวาระ แห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเกษตรธานี ประธานฯ กล่าวเปิดประชุมและให้ข้อคิดเห็นแก่คณะกรรมการฯ ว่า
1. การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3/2551 เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และสรุปผลการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ปี 2551
2. การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในปี 2552 จะต้องบูรณาการอย่างเป็นระบบมากขึ้น จึงจะขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 ได้
มติที่ประชุม รับทราบ

ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัด
เกษตรธานี ครั้งที่ 2/2551

นายเกษตร ส่งเสริม เกษตรจังหวัดเกษตรธานี เลขานุการฯ เสนอให้ที่ประชุมพิจารณารายงานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน จังหวัดเกษตรธานี ครั้งที่ 2/2551 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเกษตรธานี
มติที่ประชุม รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเกษตรธานี ครั้งที่ 2/2551 วันที่ 17 มิถุนายน 2551

ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 2/2551
เรื่องที่ 3.1 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
เลขานุการฯ รายงานต่อที่ประชุมว่า ตามที่ที่ประชุมครั้งที่ 2/2551 ได้มีมติให้เพิ่มคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเกษตรธานี และคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอำเภอทุกอำเภอ นั้น
คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเกษตรธานีได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายบริหาร องค์การ ผู้อำนวยการกองแผนงานและงบประมาณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเกษตรธานี เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเกษตรธานี และแต่งตั้งผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุก
อำเภอและกิ่งอำเภอ เป็นอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอำเภอ
มติที่ประชุม รับทราบ
เรื่องที่ 3.2 การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เลขานุการฯ รายงานว่า สืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 2/2551 คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนได้พิจารณาแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จำนวน 35 วิสาหกิจชุมชน ที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสนับสนุนแผนดังกล่าว โดยให้สำนักงานเลขาฯ เป็นผู้ติดตามผลการดำเนินงานและให้เสนอความก้าวหน้าในการประชุม ครั้งที่ 3/2551 นั้น
สำนักงานเลขาฯ ได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานแล้ว พบว่าแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลโดยละเอียด ซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ไม่สามารถนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ได้ จึงขอนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
มติที่ประชุม รับทราบ
เรื่องที่ 3.3 โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเข้าสู่แหล่งทุน
เลขานุการฯ รายงานความก้าวหน้าโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเข้าสู่แหล่งทุนว่า มีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 24 วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนผ่านเวทีเรียนรู้แผนธุรกิจแล้ว จำนวน 19 วิสาหกิจชุมชน มีการขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ จำนวน 10 วิสาหกิจชุมชน ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว จำนวน 3 วิสาหกิจชุมชน ที่เหลืออีก 7 วิสาหกิจชุมชน อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
มติที่ประชุม รับทราบ
เรื่องที่ 3.4 โครงการแหล่งเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเทิดไท้ 80 พรรษา
มหาราชา
เลขานุการฯ รายงานว่า ได้นำผู้แทนวิสาหกิจชุมชนจำนวน 22 คน ไปศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนฯ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 และได้รายงานผลการดูงานตลอดจนข้อเสนอแนะและปัญหา/อุปสรรคให้ผู้เกี่ยวข้องทราบเรียบร้อยแล้ว รายละเอียดตามเอกสารที่แนบ
มติที่ประชุม รับทราบ

ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเพื่อทราบ
เรื่องที่ 4.1 สรุปประเด็นจากการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอำเภอ
เลขานุการฯ สรุปประเด็นสำคัญจากการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอำเภอ ครั้งที่ 3/2551 ของอำเภอต่างๆ ดังนี้
1. สำนักงานเกษตรอำเภอมีการส่งรายงานการประชุมฯ จำนวน 12 อำเภอ ไม่ได้ส่งรายงานจำนวน
2 อำเภอ เนื่องจากไม่ได้จัดประชุม เพราะไม่มีประเด็นที่จะนำเข้าที่ประชุม
ที่ประชุมได้อภิปรายในเรื่องที่บางอำเภอไม่ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ เนื่องจากไม่มีประเด็นที่จะนำเข้าที่ประชุม และมีข้อสรุปว่าควรสร้างความเข้าใจเรื่องความสำคัญของการประชุมและการใช้การประชุมเป็นกลไกขับเคลื่อนงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนประเด็นเนื้อหาที่ควรบรรจุในการประชุมซึ่งเป็นประเด็นจากการปฏิบัติงานปกติในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะการสนับสนุนการเรียนรู้ในการจัดทำแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และการพิจารณาให้การสนับสนุนตามแผนฯ แก่วิสาหกิจชุมชนในอำเภอ
มติที่ประชุม ให้สำนักงานเลขาฯ พิจารณาดำเนินการสร้างความเข้าใจให้สำนักงานเกษตรอำเภอต่างๆ
2. ปัญหา/อุปสรรคในการปฏิบัติงาน
1) การประเมินศักยภาพวิสาหกิจชุมชน ควรดำเนินการเป็นทีม โดยมีเลขานุการคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอำเภอเป็นผู้วางแผนและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แล้วออกประเมินฯ เป็นทีม แต่ในการปฎิบัติจริง มีเพียงทีมของเลขานุการฯ คือสำนักงานเกษตรอำเภอเท่านั้นที่ออกประเมิน ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ เท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีงบประมาณสนับสนุน
ทำให้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ได้ยาก นอกจากนั้น หน่วยงานอื่นๆ ยังมีภารกิจมาก และมีความเข้าใจว่างานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเป็นงานของกรมส่งเสริมการเกษตร
มติที่ประชุม ให้แต่งตั้งคณะทำงานประเมินศักยภาพฯ ประกอบด้วย เกษตรอำเภอ พัฒนาชุมชน ธ.ก.ส. สาขา ตัวแทน อ.บ.ต. และตัวแทนจากสำนักงานเกษตรอำเภอ ตลอดจนแต่งตั้งผู้แทนจากวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ในอำเภอ 1-3 วิสาหกิจชุมชนร่วมเป็นคณะทำงานด้วย
2) การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนตามงบประมาณโครงการของหน่วยงานต่างๆ ไม่ค่อยสอดคล้องกับความต้องการของวิสาหกิจชุมชน
มติที่ประชุม ควรจัดสัมมนาบูรณาการแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนทุกอำเภอ โดยขอให้สำนักงานเลขาฯ พิจารณาจัดทำแผนและรายละเอียดการดำเนินการ มานำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
3. ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนางาน
1) ควรมีการปรับปรุงแบบประเมินศักยภาพวิสาหกิจชุมชน โดยคำนึงถึงผู้ประเมินซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชน ให้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น จะทำให้ได้ผลการประเมินฯ ที่เที่ยงตรงมากขึ้น
2) ควรเสนอคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้กำหนดนโยบายและแนวทางในการสร้างความเข้าใจเรื่องแนวคิดและกระบวนวิสาหกิจชุมชน ให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ปฏิบัติงานทุกระดับและชาวบ้านในชุมชน
มติที่ประชุม ให้เลขานุการฯ นำเสนอสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพื่อเสนอคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ต่อไป
เรื่องที่ 4.2 รายงานความก้าวหน้าการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
1. การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน สรุปผลการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนของ 12 อำเภอตามรายงานการประชุมฯ รวมกับการติดตามข้อมูลจากอำเภอที่ไม่ได้จัดประชุม มีการจดทะเบียนฯ 1,672 แห่ง เครือข่าย 8 เครือข่าย
2. การประเมินศักยภาพวิสาหกิจชุมชน สรุปผลการประเมินศักยภาพวิสาหกิจชุมชนของ 12 อำเภอตามรายงานการประชุมฯ รวมกับการติดตามข้อมูลจากอำเภอที่ไม่ได้จัดประชุม มีการประเมินฯ แล้ว 1,049 แห่ง อยู่ในระดับดี 351 แห่ง ระดับปานกลาง 507 แห่ง ระดับปรับปรุง 191 แห่ง
3. การทำแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชน สรุปผลการทำแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนของ 12 อำเภอตามรายงานการประชุมฯ รวมกับการติดตามข้อมูลจากอำเภอที่ไม่ได้จัดประชุม มีการจัดทำแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนแล้ว 540 วิสาหกิจชุมชน
4. การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานภาคีได้มีการรายงานการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนตามรายละเอียดในเอกสารที่แนบมาพร้อมรายงานนี้
มติที่ประชุม รับทราบ

ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องเพื่อพิจารณา
เรื่องที่ 5.1 แผนปฎิบัติการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเกษตรธานี
เลขานุการฯ เสนอต่อที่ประชุมว่า คณะอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเกษตรธานีได้จัดทำยกร่างแผนปฎิบัติการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเกษตรธานี ปี 2552-2553 ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่
1. โครงการรณรงค์สร้างความเข้าใจแนวคิดและกระบวนการวิสาหกิจชุมชน
2. โครงการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. โครงการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน
4. โครงการวิจัยเพื่อพัฒนางานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
และขอให้ที่ประชุมพิจารณาแผนปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเกษตรธานี ปี 2552-2553
มติที่ประชุม เห็นชอบแผนปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเกษตรธานี ปี 2552-2553 โดยให้เลขานุการฯ ปรับกิจกรรมตามข้อเสนอของที่ประชุม
เรื่องที่ 5.2 ข้อเสนอแนะเพื่อให้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ
ที่ประชุมได้อภิปรายถึงปัญหา/อุปสรรคในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ที่ควรได้รับการแก้ไขในภาพรวมระดับประเทศ และได้สรุปแนวทางเพื่อนำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้กำหนดเป็นมาตรการระดับชาติต่อไป ได้แก่
1. การเป็นนิติบุคคล ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 ให้วิสาหกิจชุมชนเป็นนิติบุคคล เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
2. การเสียภาษี ควรมีการผ่อนปรนภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชนตามขนาดของธุรกิจ
3. กองทุนวิสาหกิจชุมชน ควรจัดตั้งกองทุนวิสาหกิจชุมชนระดับชาติ
4. การต่อทะเบียน ควรออกระเบียบเพิ่มเติมในการต่อทะเบียน ให้สามารถต่อทะเบียนได้เฉพาะวิสาหกิจชุมชนที่มีการดำเนินธุรกิจที่เป็นของชุมชนจริงๆ
5. คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ควรเพิ่มผู้แทน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัด
มติที่ประชุม เห็นชอบและให้เลขานุการฯ ผลักดันให้มีการนำเสนอมาตรการดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ต่อไป

ระเบียบวาระที่ 6 เรื่องอื่นๆ
เรื่องที่ 6.1 การดูงานวิสาหกิจชุมชนตำบลห้วยทอง อำเภอดีเลิศ
เลขานุการฯ แจ้งว่า หลังจากการประชุมฯ ขอเชิญกรรมการฯ และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน
ร่วมทัศนศึกษาดูงานการดำเนินกิจการวิสาหกิจชุมชนตำบลห้วยทอง อำเภอดีเลิศ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์จากการดูงานมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต่อไป
ประธานฯ ขอให้กรรมการจากหน่วยงานต่างๆ นำผลจากการดูงานครั้งนี้ มาอภิปรายกันในการประชุมครั้งต่อไปด้วย
มติที่ประชุม รับทราบ

เลิกประชุมเวลา 12.20 น.


(ลงชื่อ) เสริม วิชาการ ผู้จดรายงานการประชุม
(นายเสริม วิชาการ)
นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรระดับชำนาญการ

(ลงชื่อ) เกษตร ส่งเสริม ผู้ตรวจรายงานการประชุม
(นายเกษตร ส่งเสริม)
เกษตรจังหวัดเกษตรธานี
เลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเกษตรธานี